ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2566

มหาเถรสมาคมซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ได้มีมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๔/๒๕๖๖๖ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ มติที่ ๓๓๖/๒๕๖๖ เรื่อง ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๖ เห็นชอบให้คณะสงฆ์ทุกระดับใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๕๖๖ เป็นกรอบ แนวทาง เป้าหมาย และยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพการป้องกันและควบคุมโรค และการดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ ชุมชน และสังคมตามหลักพระธรรมวินัย บนหลักการทางธรรม นำทางโลกมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนพัฒนากิจการพระพุทธศาสนาที่มีการบูรณาการโครงการและกิจกรรมของคณะกรรมการของมหาเถรสมาคมทุกฝ่าย และหลักการของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๕ และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ เพื่อให้เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคมดังกล่าว คณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมการศาสนา กรุงเทพมหานคร หน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จึงจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๖” ขึ้นโดยยึดหลักพระธรรมวินัยและข้อมูลทางวิชาการเป็นฐาน มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลางและมีการเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการทบทวนสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๖ ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมและการเปิดช่องทางการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อให้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสะท้อนเจตนารมณ์และพันธะร่วมกัน และเป็นจุดอ้างอิงในการกำหนดทิศทาง เป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรคและการดูแล สุขภาวะพระสงฆ์ ชุมชนและสังคมในอนาคตจึงขอประกาศธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๖ ตามท้ายประกาศนี้ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพพระสงฆ์ในทุกระดับและส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะชุมชนและสังคมต่อไป